สมัยนี้ “วิทยาศาสตร์ทางข้อมูล” (Data Science)ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายๆวงการไม่ว่าจะเป็นทางด้านธุรกิจ การตลาด การเมือง มีเดีย ฯลฯซึ่งหลาย ๆ องค์กรได้เริ่มนำมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง และแข็งแกร่งกันมากยิ่งขึ้น หากยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ก็คือ วงการกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฟุตบอล” ซึ่งได้ใช้วิทยาศาสตร์ทางข้อมูลเข้ามาประยุกต์ และนำมาวิเคราะห์ใช้ทั้งในแง่การวางแผนหรือยุทธวิธีการจัดการทีมก็เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และช่วยสร้างความสำเร็จให้กับทีมของตนเอง
หากใครเป็นแฟนที่คอยติดตามการถ่ายทอดสดฟุตบอลทางโทรทัศน์อยู่บ่อย ๆ จะสังเกตุได้ว่า ปัจจุบันจะมีการเก็บสถิติในการแข่งขันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนครั้งในการทำประตูของแต่ละทีม จำนวนการทำฟาวล์ จำนวนการผ่านบอลหรือโอกาสในการผ่านบอลสำเร็จ ฯลฯ ทุกอย่างต่างถูกเก็บไว้เป็นข้อมูลทางสถิติ และได้มีการแสดงข้อมูลให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การเก็บข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์หรือนำไปต่อยอดอย่างไรได้บ้าง
ที่ผ่านมาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ผู้สันทัดกรณีหรือคอมเมนเตเตอร์ (Commentator) มักจะนำมาใช้ในการวิเคราะห์แนวทางการเล่นของแต่ละทีม และคาดการณ์ผลการแข่งขันในแต่ละแมตช์โดยอาศัยสถิติที่ผ่านมาเป็นพื้นฐานผนวกกับประสบการณ์ความชำนาญของแต่ละผู้สันทัดกรณีแต่ละคน แต่ในปัจจุบันได้มีการออกแบบการจัดเก็บข้อมูลที่ละเอียด และหลากหลายมิติมากกว่าในอดีตที่ผ่านมาทำให้ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บมีขนาดใหญ่จนกลาย “บิ๊กดาต้า” (Big Data) ซึ่งในวงการฟุตบอลได้นำบิ๊กดาต้า เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์จุดแข็ง และจุดอ่อนของทีมตัวเองหรือคู่แข่ง แล้วยังสามารถวิเคราะห์นักฟุตบอลเป็นรายบุคคลเลยด้วยซ้ำ
โดยแต่ละทีมยังได้นำบิ๊กดาต้าเข้ามาใช้ในการวางแผนกลยุทธในแต่ละแมตซ์ซึ่งสามารถที่จะกำหนดรูปแบบของการฝึกซ้อมให้สอดคล้องกับวิธีการเล่นในแต่ละแมตซ์การแข่งขัน ตลอดจนการวางแนวทางการฝึกซ้อมในระยะยาว ทั้งในเรื่องของระบบการเล่น การเคลื่อนที่ การเล่นลูกนิ่ง และระดับความฟิตหรือความแข็งแรงของนักกีฬาภายในทีมเพื่อให้ประสบผลสำเร็จสูงที่สุด
เห็นได้ชัดจาก เจลีก (J League) ที่ก้าวมาเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคนี้ ซึ่งได้ใช้ “วิทยาศาสตร์ทางข้อมูล”อย่างจริงจัง จนประสบความสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน แต่ถึงแม้ว่า ลีกอาชีพประเทศญี่ปุ่นจะมีมาตรฐานสูงในระดับต้น ๆ ของเอเชียหากนำไปเทียบกับสถิติตัวเลขของทีมฟุตบอลในบุนเดสลีก้าของเยอรมันแล้วยังเห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งนักวิเคราะห์ข้อมูลของญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาข้อมูลพบว่า ในเกมฟุตบอลทีมที่มีอัตราการเคลื่อนที่ของนักฟุตบอลมากย่อมมีโอกาสสูงที่จะรับชัยชนะในการแข่งขัน และดูจากจำนวนการวิ่งเร็วในระยะสั้นเฉลี่ย (Number of Sprint) กับระยะทางในการเคลื่อนที่ของนักฟุตบอลในลีกอาชีพของเยอรมันสูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยทีมฟุตบอลในลีกอาชีพของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก นั่นแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนที่ของนักฟุตบอลในลีกอาชีพของญี่ปุ่นยังคงเป็นจุดอ่อนซึ่งด้อยกว่าของฟุตบอลเยอรมันอยู่ ผลการศึกษานี้ ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาศักยภาพของนักฟุตบอลลีกญี่ปุ่นให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นและให้มีความทัดเทียมกับประเทศที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่างเยอรมัน
นับเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับนักการตลาดหรือนักธุรกิจในแง่การให้ความสำคัญ และนำ “วิทยาศาสตร์ทางข้อมูล” เข้ามาศึกษา และวิเคราะห์ใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือองค์กรเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่มีอยู่หลากหลายทั้งใน และนอกประเทศได้อย่างทัดเทียม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
บทความโดย ศรัณยพัชร์อติกันต์ธนา
ผู้จัดการแผนก Investment & Knowledge
ในเครือ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส